วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ปธานความเพียร 4

ปธาน 4 (effort : exertion) ปธาน หมายถึง ความเพียร เป็นความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ในมรรค 8 ประกอบด้วย1. สังวรปธาน หมายถึง เพียรระวังหรือเพียรป้องกัน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น เป็นความเพียรในการระวังหรือป้องกันไม่ทำความชั่ว (อกุศลธรรม) ในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น ไม่ทำอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้น2. ปหานปธาน หมายถึง เพียรละ หรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นความเพียรที่ละ เลิก ในสิ่งที่เป็นการกระทำที่ไม่ดีทั้งหลาย เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกสุรายาเสพติด เลิกการหลอกลวงผู้อื่น เป็นต้น3. ภาวนาปธาน หมายถึง เพียรเจริญ หรือเพียรสร้าง คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น เป็นความเพียรที่จะพยายามกระทำในสิ่งที่เป็นความดี ในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ เพื่อให้ก่อประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์สูงสุดในชีวิต4. อนุรักขนาปธาน หมายถึง เพียรอนุรักษ์ หรือเพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ เป็นความเพียรในการรักษาคุณความดีที่ได้กระทำไว้แล้ว และยังจะกระทำคุณความดีเหล่านั้นให้เจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด ไม่มีจำกัด เช่น การพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอันชอบธรรม เป็นต้น
หลักธรรมปธาน 4 เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า สัมมัปปธาน 4 หมายถึง ความเพียรชอบ หรือความเป็นเป็นใหญ่ จึงเป็นส่วนของสัมมาวายามะ (ความเพียรขอบ) ในมรรค 8 ในการทำความเพียร จะต้องเริ่มก่อตัวขึ้นในใจให้พร้อมและถูกต้องก่อน แล้วจึงขยายออกไปเป็นการกระทำในภายนอกให้ประสานกลมกลืน มิใช่คิดอยากทำความเพียร ก็ใช้กำลังกายเอาแรงเข้าทุ่ม ซึ่งอาจกลายเป็นการทรมานตนเองทำให้เกิดผลเสียได้มาก โดยนัยนี้ การทำความเพียรจึงต้องสอดคล้องกลมกลืนกันไปกับธรรมข้ออื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะสติสัมปชัญญะ มีความรู้ความเข้าใจ ใช้ปัญญาดำเนินความเพียรให้พอเหมาะ คือ เป็นทางสายกลาง

ไม่มีความคิดเห็น: