วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

การเข้าใจกิจของพระสงฆ์


พุทธศาสนิกชนยึดถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะในการดำรงชีวิต ในประเทศไทยประชาชนมากกว่าร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา เป็นเวลากว่าพันปีแล้วที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย จนแยกกันไม่ออก ความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาย่อมมีผลกระทบต่อสังคมไทย พวกเราชาวพุทธจึงมีหน้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป หน้าที่สำคัญของชาวพุทธมีดังนี้ การเข้าใจในกิจของพระภิกษุ เช่น การศึกษา การปฏิบัติธรรม และการเป็นนักบวชที่ดีพระภิกษุเป็นพุทธบริษัทระดับนำ จึงมีภาระหน้าที่ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยทำหน้าที่หลักใหญ่ ๆ 3 ประการคือ 1. การศึกษา ได้แก่ การทำ “คันถธุระ” หมายถึง พระภิกษุจะต้องศึกษาหลักพระธรรมวินัยตามพระคัมภีร์พระไตรปิฎกเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย อย่างถูกต้อง สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสมณเพศ 2. การปฏิบัติ ได้แก่การทำ “วิปัสสนาธุระ” หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีพลัง เพื่อนำไปใช้ในการข่มหรือกำจัดกิเลสคือความเศร้าหมองแห่งจิต และให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จากการทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ส่วนตนทั้ง 2 ประการนั้นก็เพื่อนำไปสั่งสอน ถ่ายทอด และเผยแพร่พระธรรม แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปการสั่งสอนและเผยแพร่พระธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไป ได้เข้าใจในหลักธรรมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นการทำประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระพุทธเจ้าได้ตรัสหน้าที่ของพระสงฆ์ในการสั่งสอนเผยแพร่หลักธรรมแก่ประชาชนไว้ 6 ประการคือ 1) สอนให้ละเว้นความชั่ว คือ การชักจูงใจให้บุคคลพึงละเว้นจากสิ่งที่กระทำลงไปแล้วเกิดโทษ ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ 2) สอนให้ทำความดี คือ การชักจูงใจให้บุคคลประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สิ่งที่เป็นกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข 3) อนุเคราะห์ด้วยจิตใจอันงาม หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ และแนะนำสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี มุ่งประโยชน์ที่บุคคลถึงได้รับเป็นสำคัญ ไม่หวังสินจ้างรางวัล ลาภ ยศ หรือชื่อเสียงใด ๆ เป็นการตอบแทน 4) สอนสิ่งที่เขาไม่เคยสดับตรับฟังมาก่อน ประชาชนส่วนมากมักวุ่นวายอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาและสดับพระธรรม พระสงฆ์ผู้ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติมากกว่าชาวบ้าน จึงต้องนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้มาถ่ายทอดให้เขาได้รู้ด้วย 5) อธิบายสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาแล้วให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น บางเรื่องที่เขาฟังมาแล้วเกิดความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้งหายสงสัย โดยรู้จักการจับประเด็นที่สำคัญมาขยาย และชี้แจงแต่ละประเด็นให้ชัดเจน 6) บอกทางสวรรค์ให้ หมายถึง การบอกทางสุข ทางเจริญ โดยการแนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม และเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน 3. การเป็นนักบวชที่ดี พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษา ปฏิบัติธรรม เผยแผ่คำสอน ดังที่กล่าวมาแล้ว พระภิกษุจะต้องเป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมและหลักความประพฤติที่ต้องปฏิบัติมากมาย นอกจากอนุเคราะห์พุทธศาสนิกชนแล้ว พระภิกษุจะต้องหมั่นพิจารณาตนเอง คือ พิจารณาเตือนใจตนเองอยู่เสมอตามหลัก ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ) 10 ประการดังนี้คือ 3.1 เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ สลัดแล้วซึ่งฐานะ ควรเป็นอยู่ง่าย จะถือเอาแต่ใจตนเองไม่ได้ 3.2 ความเป็นอยู่ของเราต้องอาศัยผู้อื่นในการเลี้ยงชีพ ควรทำตัวให้เลี้ยงง่าย และบริโภคปัจจัย 4 โดยพิจารณา ไม่บริโภคด้วยตัณหา 3.3 เรามีอากัปกิริยาที่พึงทำต่างจากคฤหัสถ์ อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ พระภิกษุต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ และยังจะต้องปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ 3.4 ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ 3.5 เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชน พิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ 3.6 เราจักต้องถึงความพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น 3.7 เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น 3.8 วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ 3.9 เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ 3.10 คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรชิตถามในกาลภายหลัง ( บทความโดย พระอธิการประภาส โชติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดหนองขนาก )

ไม่มีความคิดเห็น: